การกรอกแบบสมัครงาน

๑.  ความสำคัญของแบบสมัครงาน
             การกรอกแบบสมัครงาน เป็นสิ่งแรกที่จะก้าวไปสู่อาชีพการเป็นลูกจ้าง และมีความสำคัญต่อผู้สมัครงานมาก เพราะแบบสมัครงานถูกเรียบเรียงไว้เป็นหมวดหมู่สำหรับให้ผู้ประกอบการได้คัดเลือกเปรียบเทียบคุณสมบัติของผู้สมัครงานในเบื้องต้นว่าผู้สมัครงานไหนน่าสนใจ เชิญมาสัมภาษณ์ คนไหนควรคัดทิ้งไป
  ๒.  ส่วนประกอบของแบบสมัครงาน
             แบบสมัครงานมีส่วนประกอบที่สำคัญ ดังนี้
             ๒.๑  ข้อมูลของผู้สมัคร เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติส่วนตัว ประวัติการศึกษา ประวัติการทำงาน ความรู้ความสามารถพิเศษ บุคคลที่จะอ้างถึงเป็นต้น
             ๒.๒  ลายมือของผู้สมัครและลักษณะการกรอกข้อมูล
             ๒.๓  รูปถ่ายของผู้สมัครงาน
  ๓.  รายละเอียดของข้อมูลที่จำเป็น
             ๓.๑  ประวัติส่วนตัว  ประกอบด้วย วัน  เดือน  ปีเกิด (อายุ)สัญชาติ, เชื้อชาติ, ศาสนา, ส่วนสูง, น้ำหนัก, ที่อยู่ถาวร, ที่อยู่ที่ติดต่อได้, สถานะของที่อยู่อาศัย, สถานะครอบครัว, ข้อมูลของบิดา มารดา คู่สมรส บุตร พี่น้องของผู้สมัคร, สถานะทางทหาร
             ๓.๒  ประวัติการศึกษา ประกอบด้วย ข้อมูลการศึกษา ตั้งแต่ระดับประถม มัธยม อาชีวศึกษา อุดมศึกษา ชื่อสถาบันการศึกษาในแต่ละระดับ ปีการศึกษาที่เริ่มเรียนและจบการศึกษา  วุฒิการศึกษาที่ได้รับ  ระดับคะแนนที่จบการศึกษา
             ๓.๓  ประวัติการทำงาน ประกอบด้วย ใบผ่านงาน ระยะเวลาในการทำงานแต่ละแห่งอัตราเงินเดือนเมื่อแรกเข้า และเมื่อลาออก สาเหตุที่ลาออก
             ๓.๔  ความรู้ความสามารถพิเศษ ควรระบุความรู้ความสามารถพิเศษที่เหมาะสมกับระดับการศึกษา และตำแหน่งงานที่สมัคร ความรู้ความสามารถพิเศษที่ผู้สมัครจะได้เปรียบคนอื่น เช่น การสื่อสารได้หลายภาษา เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีนและอื่น ๆ ความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์ทุกโปรแกรม
             ๓.๕  บุคคลที่จะอ้างอิงได้ ควรอ้างอิงถึงบุคคลที่มีชื่อเสียงและเชื่อถือได้และผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นความจริง ผลดีจะเกิดกับตัวผู้สมัครงาน
  ๔.  หลักการกรอบแบบสมัครงาน
             ๔.๑  ขั้นเตรียมเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ควรเตรียมสำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาวุฒิการศึกษา หนังสือรับรองในกรณีที่ประสบการณ์ (เอกสารเหล่านี้ควรนำฉบับจริงไปด้วย) รูปถ่ายหน้าตรงไม่สวมแว่น ไม่สวมหมวก
             ๔.๒  ขั้นตอนการไปสมัครงาน
                                การแต่งกาย ควรแต่งกายให้เรียบร้อย ยกเว้นการสวมเสื้อยืดกางเกงยีนส์และรองเท้าแตะ ชายเสื้อสอดไว้ในกางเกง หวีผมให้เรียบร้อย
                                สิ่งของเครื่องใช้อย่าลืมนำเอกสารที่เตรียมไว้ในข้อ  ๔.๑  ไป และพกปากกาสีน้ำเงินหรือสีดำ น้ำยาลบคำผิด ดิกชันนารีเล่มเล็ก ๆ (ในกรณีต้องใช้ภาษาอังกฤษ๗
             ๔.๓  ขั้นตอนการกรอกแบบสมัครงาน
                         ๔.๓.๑  อ่านข้อความในใบสมัครให้ตลอดก่อนที่จะลงมือเขียนข้อความอะไรลงไป พร้อมทั้งศึกษาข้อกำหนดต่าง ๆ ในใบสมัคร ถ้าไม่เข้าใจให้สอบถามจากเจ้าหน้าที่ที่รับสมัคร
                         ๔.๓.๒  ก่อนเขียนใบสมัคร ให้คิดให้ดีอีกครั้งว่า จะสมัครงานในตำแหน่งอะไร แล้วเลือกหาข้อมูลที่จะแสดงถึงความรู้ ความสามารถของคุณจากข้อมูลที่คุณ เตรียมไว้ซึ่งเกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานที่คุณจะสมัคร
                         ๔.๓.๓  ปฏิบัติตามข้อกำหนดในการกรอกใบสมัคร เช่น ให้เขียนด้วยลายมือชื่อของตนเอง ชื่อภาษาอังกฤษให้เขียนด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ เรียงลำดับเหตุการณ์ไว้ ฯลฯ ถ้าแบบฟอร์มให้มาเป็นภาษาอังกฤษ ก็ควรตอบเป็นภาษาอังกฤษ ถ้ามาควบทั้ง    ภาษา ก็เลือกตอบเป็นอังกฤษไว้ก่อน (ถ้าแน่ใจว่าภาษาอังกฤษเราใช้ได้) ระวังเรื่อง พ.ศ. กับ ค.ศ. ด้วยอย่าเอามาสับสนกัน
                         ๔.๓.๔  ถ้าใบสมัครมีข้อความที่จะต้องการให้กรอกมากและต้องการข้อมูลมากกว่าที่คุณได้เตรียมมา ให้กรอกหรือเรียงข้อความที่คุณต้องการโดยกรอกในกระดาษร่างก่อน โดยเฉพาะเรื่องราวที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีต ลำดับช่วงเวลาการศึกษาประสบการณ์ การฝึกอบรม รายได้ที่เคยได้รับเป็นต้น
                         ๔.๓.๕  ตอบให้ครบทุกข้อ ข้อไหนที่ไม่จำเป็นต้องตอบ อย่าลืมขีดเพื่อแสดงความรอบคอบด้วย
                         ๔.๓.๖  ความยาวของข้อความที่กรอกลงไปในใบสมัครควรสั้นพอดีกับช่องว่างที่เขากำหนดให้และได้ใจความสมบูรณ์
                         ๔.๓.๗  การใช้อักษรย่อ ควรใช้เฉพาะกรณีที่จำเป็นและต้องเป็นอักษรย่อที่ผู้อื่นเข้าใจว่าหมาย ความถึงอะไร เช่น วุฒิการศึกษา ปวช. ผู้อ่านจะทราบว่า คือ คำย่อของประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นต้น เป็นต้น
                         ๔.๓.๘  บางบริษัทอาจจะให้คุณระบุชื่อบุคคลที่คุณจะอ้างอิงได้เพื่อประโยชน์ของบริษัทของเขาที่จะตรวจสอบอะไรบางอย่าง บุคคลที่คุณอ้างอิงนี้จะมีผลต่อการสมัครงานของคุณมาก ดังนั้นการที่คุณจะอ้างอิงถึงใคร คุณควรคำนึงถึงเรื่องดังนี้
                                            -  เป็นบุคคลที่มีตำแหน่งหน้าที่น่าเชื่อถือ แต่ไม่ใช่เป็นเพื่อนกัน อาจจะเป็นญาติห่าง ๆ กันหรือเป็นอดีตผู้บังคับบัญชาหรืออาจารย์เก่าของคุณก็ได้
                                            -  คุณควรมีความสนิทสนมกับบุคคลที่อ้างอิงมากพอสมควรในขณะเดียวกับผู้ที่คุณ อ้างอิงนี้ต้องรู้ถึงความสามารถของคุณดี ข้อสำคัญก็คือ เมื่อคุณจะอ้างอิงถึงใครก็ตามควรจะแจ้งให้เขาทราบและอนุญาตก่อน และเมื่อได้อ้างอิงชื่อของเขาไปแล้วก็ควรจะแจ้งให้เขาทราบไว้ด้วย เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดหรือไม่รู้กันในภายหลัง
                                            -  ตรวจทานข้อมูลที่คุณกรอกอีกครั้งว่าถูกต้องสมบูรณ์แล้วหรือยัง เมื่อเรียบร้อยแล้วให้นำส่งเอกสารต่าง ๆ ที่คุณเตรียมมาพร้อมแนบรูปถ่าย
                                            -  สอบถามเจ้าหน้าที่ของบริษัทว่าจะให้ทำอะไรต่อไป บางแห่งอาจนัดให้ไปทำแบบทดสอบ และสัมภาษณ์ภายหลังบางแห่งก็อาจให้ทำแบบทดสอบทันทีและสัมภาษณ์เลย คุณควรสอบถามขั้นตอนจนเป็นที่เข้าใจ
                         ควรกรอกใบสมัครด้วยลายมือตัวบรรจงเป็นระเบียบเรียบร้อย อย่าให้มีคำผิดและควรใช้เวลาพอสมควร ไม่ควรจะเกิน  ๑๕-๒๐  นาที และจัดเอกสารประกอบให้พร้อมแนบไปกับใบสมัครให้ครบถ้วนด้วย


บรรณานุกรม

โรงเรียนมัธยมวัดสิงห์.  ใบความรู้เรื่อง การกรอกแบบสมัครงาน วิชา ท ๒๓๑๐๑  ภาษาไทย  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่  ๓. สืบค้นเมื่อวันที่ 21
           พฤศจิกายน 2561 จาก http://schoolweb.eduzones.com/nisarat/content.php?view=20130326103649etzTPKc