การเขียนย่อความ

การเขียนย่อความ
   ย่อความ คือ การเก็บใจความเรื่องที่อ่านหรือฟังอย่างย่อ ๆ โดยให้มีเนื้อหาครอบคลุมสาระสำคัญของเรื่องครบถ้วน มีหลักการเขียนดังนี้
       ๑. ใช้คำนำให้ถูกต้องตามประเภทของเรื่อง
       ๒. ใช้สรรพนามบุรุษที่ ๓
       ๓. ใช้สำนวนผู้ย่อ ถ้าเป็นร้อยกรองก็ต้องเปลี่ยนเป็นร้อยแก้ว ยกเว้นคำราชาศัพท์ให้คงไว้ตามเดิม
       ๔. หากใจความที่ย่อไม่มีชื่อเรื่อง ต้องคิดชื่อเรื่อง
       ๕. เขียนเรื่องที่ย่อติดกัน ขึ้นย่อหน้าใหม่เฉพาะเนื้อความที่แยกไว้หรือไม่เกี่ยวข้องกัน
       ๖. อ่านเนื้อความให้ละเอียด เพื่อหาประโยคใจความสำคัญและประโยคประกอบก่อนลงมือย่อความ
       ๗. นำประโยคใจความสำคัญและประโยคประกอบมาเรียงให้สละสลวยได้ใจความ
       ๘. ควรย่อความให้สั้นที่สุด โดยเก็บประโยคใจความสำคัญและประโยคประกอบที่เด่น ๆ ไว้

   รูปแบบการขึ้นคำนำย่อความ
   ๑. แบบของบทความ สารคดี ตำนาน นิทาน นิยาย เรื่องสั้น ฯลฯ
   ย่อ_______________เรื่อง_________________ของ_________________
   จาก_________________ความว่า

   ๒. แบบของจดหมาย สาส์น หนังสือราชการ
   ย่อ______________ฉบับที่_________________ของ_________________
   ลงวันที่______________ความว่า

   ๓. แบบของประกาศ แจ้งความ แถลงการณ์ ระเบียบคำสั่ง ฯลฯ
   ย่อ_______________เรื่อง_________________ของ_________________
   ลงวันที่______________ความว่า

   ๔. แบบของข่าว
   ย่อข่าวเรื่อง_____________________ของ_____________________
   ลงวันที่__________________ความว่า

   ๕. แบบของโอวาท คำปราศรัย สุนทรพจน์
   ย่อ____________เรื่อง_________________แก่_________________
   เนื่องใน__________________ที่_________________ณ วันที่_________________ความว่า

   ๖. แบบของปาฐกถา คำสอน คำบรรยาย ถ้อยแถลง
   ย่อ____________ของ__________________เรื่อง__________________
   แก่___________________ที่____________________ ณ วันที่____________________
   เวลา____________________ความว่า

   ๗. แบบพระบรมราโชวาท เทศนา
   ย่อ (พระบรมราโชวาท เทศนา) ใน__________________พระราชทานแก่___________________
   ใน__________________ที่_________________ณ วันที่_________________ความว่า

   ๘. แบบของจดหมายเหตุ จดหมายเหตุรายวัน บันทึกความจำ
   ย่อ_____________ของ_________________เนื่องใน_________________
   ลงวันที่______________เรื่อง_________________ความว่า

   ๙. แบบคำประพันธ์ที่เป็นบทร้อยกรอง
   ย่อคำประพันธ์ประเภท_______________เรื่อง___________________
   ของ___________________ตอน_________________ ความว่า

   ๑๐. ความเรียงที่ตัดตอนมา
   ย่อเรื่อง_____________________ของ_____________________
   คัดจากเรื่อง__________________จากหนังสือ__________________ความว่า

ตัวอย่าง

ไก่ชนไทย

       กีฬาไก่ชนหรือกีฬาตีไก่ ปัจจุบันยังเป็นกีฬาพื้นบ้านที่พบเห็นได้ทั่วไป และหากได้สืบสาวถึงที่มาของกีฬานี้แล้วจะเห็นว่าทั้งกีฬาชนไก่และสายพันธุ์ของไก่ชนไทยเป็นภูมิปัญญาไทยแขนงหนึ่งและอยู่คู่กับวัฒนธรรมไทยมานานแล้ว
       ไก่ชนพัฒนามาจากไก่บ้านหรือไก่เลี้ยงที่มีอยู่ทั่วไปในโลกนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ไก่บ้านก็ล้วนพัฒนามาจากไก่ป่า ซึ่งแม้จะเป็นไก่บ้านแต่มันก็มีสัญชาตญาณของสัตว์ป่าตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติที่ต้องมีการต่อสู้เพื่อความอยู่รอด ทั้งสู้กับสัตว์อื่นและสัตว์ประเภทเดียวกัน กีฬาไก่ชนจึงมีความสำคัญที่การคัดเลือกสายพันธุ์ไก่ที่เป็นหัวหน้าฝูงหรือพ่อพันธุ์จึงถูกคัดเลือกโดยธรรมชาติตามหลักที่ว่า “ตัวที่แข็งแรงจึงจะอยู่รอด” และตัวที่จะเป็นผู้นำก็คือตัวที่เข้มแข็งหรือเก่งกว่าเท่านั้น
       เมื่อมนุษย์นำไก่ป่ามาเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารที่ได้ทั้งไข่และตัวไก่นั้น ไก่บางพันธุ์ยังคงสัญชาตญาณการต่อสู้ไว้ เมื่อเจอไก่แปลกหน้าเป็นต้องสู้กันเพื่อป้องกันตัวเอง ตัวเมีย แหล่งพำนัก อาหาร ฯลฯ คนโบราณจึงคัดเลือกไก่ที่ชอบการต่อสู้มาเลี้ยงและนำมาสู้กันหรือที่เรียกว่า “ชนไก่”
       พันธุ์ไก่ชนของไทยที่ถือเป็น “มรดกไทย” แต่ครั้งสมัยสุโขทัยมาจนปัจจุบันมีหลายสายพันธุ์ พันธุ์ที่เด่นมาแต่อดีต ได้แก่ พันธุ์ประดู่หางดำและพันธุ์เหลืองหางขาว ในสมัยสุโขทัยไก่ชนประดู่หางดำ พันธุ์แสมดำ ได้ชื่อว่าเป็น “ไก่พ่อขุน” ด้วยเป็นไก่ที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงโปรด
       สมัยกรุงศรีอยุธยามีการเล่าขานถึงความเก่งของไก่ชนไทยสายพันธุ์เหลืองหางขาว ซึ่งเป็นไก่ชนลักษณะพิเศษ มีความเฉลียวฉลาดในการต่อสู้จึงชนะ จนได้ชื่อว่า “เหลืองหางขาวไก่เจ้าเลี้ยง” เพราะเป็นไก่ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงนำไปจากบ้านกร่าง เมืองพิษณุโลก และตีชนะไก่ของนัดจินหน่อง มหาอุปราชกะยอชวาที่กรุงหงสาวดีแห่งพม่า
       พันธุ์ไก่ชนของไทยมีการพัฒนามาโดยภูมิปัญญาไทยที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค การเลี้ยงไก่ชนนั้นไม่เหมือนการเลี้ยงไก่ธรรมดา คนเลี้ยงจะต้องเลี้ยงอาหารแบบพื้นบ้านคือเลี้ยงด้วยข้าวเปลือกเพราะจะทำให้ลำคอแข็งแรง ไม่ล้มง่ายเวลาถูกตีจากไก่ตัวอื่น เวลาเลี้ยงต้องให้ลูกไก่เรียนรู้สัญชาตญาณจากแม่เสียก่อน ส่วนไก่ที่โตแล้วก็เลี้ยงในบริเวณพื้นที่จำกัดและปล่อยให้คลายเครียดในเวลาตอนเย็น การดูแลไก่ชนประเภทนี้ต้องมีการฝึกซ้อม เช่น การใช้กล้วยล่อให้วิ่งตามเพื่อฝึกพละกำลังขา ต้องใช้ผ้าเช็ดปากหลังจากกินอาหารเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรค ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวและแข้งให้สะอาดเงางาม ในฤดูหนาวให้ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดตัวเพื่อป้องกันการติดหวัด และซ้อมการออกอาวุธให้มาก เมื่อไก่แข็งแรงพร้อมที่จะเป็นยอดนักสู้ได้แล้วจึงนำสู่สนามไก่ชน

(อรุณี ตันศิริ ของ วัฒนธรรมถิ่น วัฒนธรรมไทย)

       ย่อบทความเรื่อง ไก่ชนไทย ของ อรุณี ตันศิริ จากหนังสือ วัฒนธรรมถิ่น วัฒนธรรมไทยความว่า
กีฬาไก่ชนเป็นกีฬาพื้นบ้านที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมไทยมายาวนาน ไก่ชนพัฒนามาจากไก่บ้านซึ่งยังคงหลงเหลือสัญชาตญาณของไก่ป่าที่ต้องมีการต่อสู้เพื่อความอยู่รอด กีฬาไก่ชนจึงมีความสำคัญที่การคัดเลือกสายพันธุ์ตามหลักธรรมชาติที่ว่า “ตัวที่แข็งแรงจึงจะอยู่รอด” และตัวที่จะเป็นผู้นำก็คือตัวที่เข้มแข็งหรือเก่งกว่าเท่านั้น ในสมัยสุโขทัยไก่ชนประดู่หางดำ พันธุ์แสมดำ ซึ่งเป็นสายพันธุ์เด่นในสมัยนั้น ได้ชื่อว่าเป็น “ไก่พ่อขุน” เหตุเพราะพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงโปรดส่วนในสมัยกรุงศรีอยุธยาไก่ชนไทยสายพันธุ์เหลืองหางขาว ได้ชื่อว่า “เหลืองหางขาวไก่เจ้าเลี้ยง” เพราะเป็นไก่ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงนำไปตีชนะไก่ที่กรุงหงสาวดีแห่งพม่า จากอดีตถึงปัจจุบันพันธุ์ไก่ชนของไทยจึงมีการพัฒนามาโดยภูมิปัญญาไทยและมีวิธีการเลี้ยงดูแบบพื้นบ้านอย่างเอาใจใส่และหมั่นฝึกซ้อม เมื่อไก่แข็งแรงพร้อมที่จะเป็นยอดนักสู้จึงนำลงสู่สนามไก่ชน

ที่มา
http://www.trueplookpanya.com/learning/detail/31730-044307