การเขียนอธิบาย ชี้แจง


การเขียนอธิบาย  
               
              การเขียนอธิบาย  เป็นการเขียนเพื่อให้ผู้อ่านได้รับความรู้และความเข้าใจเรื่องราวต่างๆ อย่างละเอียดและถูกต้อง ด้วยกลวิธีที่หลากหลายและเหมาะสมกับเนื้อหา

1.ความหมายของคำว่า อธิบาย
             คำว่า อธิบายพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ( 2546 : 1324 ) ได้ให้ความหมายไว้ว่า ก. ไขความ , ขยายความ , ชี้แจง
             ฉะนั้นจึงพอสรุปได้ว่าการเขียนอธิบาย คือ การเขียนไขความ การเขียนขยายความ หรือการเขียนชี้แจงนั่งเอง ซึ่งเป็นการเขียนที่มุ่งให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องราวใดเรื่องราวหนึ่งอย่างถูกต้องชัดเจน โดยมุ่งที่จะบอกว่าสิ่งนั้น ๆ มีลักษณะมีสภาพหรือข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ซึ่งผู้เขียนให้รายละเอียด เหตุผล ที่ชัดเจนน่าเชื่อถือ

2.วัตถุประสงค์ของการเขียนอธิบาย
      เพื่อให้ผู้อ่านได้รับความรู้และความเข้าใจ ในเรื่องที่อธิบายอย่างละเอียด ชัดเจน ถูกต้อง ตรงตามที่ผู้เขียนอธิบายต้องการ

3.ความสำคัญของการเขียนอธิบาย
1.            ช่วยให้ผู้อ่านได้รับความรู้และเข้าใจความหมายของคำได้อย่างถูกต้อง
2.            ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ได้ชัดเจน  และกว้างขวางมากขึ้น
3.            ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจสาระสำคัญอันเกี่ยวข้องกับสังคมและวัฒนธรรมได้อย่างถูกต้อง        
4.            ช่วยให้ผู้อ่านเกิดองค์ความรู้ใหม่และมีประโยชน์ต่อการเรียนการสอน      
5.            ช่วยให้ผู้อ่านเกิดทัศนคติ และโลกทัศน์ในด้านต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น
   
 4.หลักการเขียนอธิบาย
                การเขียนอธิบายที่ดีควรมีหลักการเขียน ดังนี้
                4.1)  กำหนดวัตถุประสงค์ในการเขียนให้ชัดเจนว่า ต้องการเขียนอธิบายเรื่องอะไร และมีวัตถุประสงค์ในการเขียนอย่างไร เพื่อจะได้เลือกวิธีเขียนอธิบายได้อย่างเหมาะสม
                4.2)  เตรียมเนื้อเรื่องหรือข้อมูล โดยศึกษาค้นคว้าจากหนังสือหรือสื่ออื่น ๆ เช่น หนังสือ คู่มือ ตำรา นิตยสาร วารสาร วิทยุ โทรทัศน์ และอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
                4.3)  กำหนดโครงเรื่องที่จะเขียน เพื่อเรียบเรียงความคิดและข้อมูลให้มีความต่อเนื่องและน่าสนใจ
                4.4)  เลือกวิธีการอธิบายให้เหมาะสมสอดคล้องกับเรื่อง ในบางครั้งอาจจะต้องใช้วิธีอธิบายมากกว่า  1  วิธีในการเขียนอธิบายก็ได้
                4.5)  ควรใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย กระชับ รัดกุม และตรงไปตรงมา เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องได้อย่างชัดเจนที่สุด

5. ลักษณะของการเขียนอธิบาย
           การเขียนอธิบายที่ใช้สื่อสารในชีวิตประจำวันนั้นมีหลายลักษณะ  มีทั้งเขียนอธิบายในเอกสาร ตำรา ตลอดจนในเว็บไซด์ต่างๆ ที่ปรากฏในอินเทอร์เน็ต  ซึ่งลักษณะของการอธิบายเรื่องราวต่างๆ มีวิธีการเขียนโดยสรุปดังนี้ 

5.1 การเขียนอธิบายโดยการนิยาม  
           การเขียนอธิบายโดยการนิยาม  หรือให้คำจำกัดความเป็นการอธิบายความหมายของคำ สำนวนต่างๆ ให้ผู้อ่านเข้าใจความหมายได้ถูกต้อง เช่น 

ตัวอย่าง  การอธิบายความหมายคำในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542
                 ชีปะขาว (น.)  ชื่อแมลงที่เป็นผีเสื้อของหนอนกอข้าว
                 ถึก  (ว.)          เปลี่ยว, หนุ่ม (ใช้แก่ควายตัวผู้) เช่น ควายถึก

 5.2 การเขียนอธิบายโดยยกตัวอย่าง   
          การเขียนอธิบายโดยยกตัวอย่างเป็นการเขียนอธิบายเรื่องราวต่างๆ  ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องโบราณ หรือเรื่องที่คน ในสมัยปัจจุบันอาจจะไม่เคยรู้จัก  หรืออาจเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นนามธรรม เข้าใจยาก จึงเขียนอธิบายโดยยกตัวอย่างด้วยรูปภาพ หรือยกตัวอย่างประโยคเหตุการณ์เพื่อช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายและเร็วขึ้น

ตัวอย่าง
       ผักสดที่คุณแม่บ้านจะเลือกมาทำสลัดนั้น หาได้ไม่ยากเลยทั้งจากตลาดสดใกล้บ้านหรือแม้กระทั่งในซูเปอร์มาร์เก็ตก็มีผักมากมายให้คุณแม่บ้านได้เลือกสรรตามชอบใจ ไม่ว่าจะเป็นผักไทย ๆ อย่างแตงกวา  มะเขือเทศ  หอมหัวใหญ่  กะหล่ำปลี  และผักกาดหอม  หรือผักของฝรั่ง  อย่างแครอท  แชลารี่  ผักกาดแก้ว  กะหล่ำปลีสีม่วง  แรดิช  และบีทรูท  เป็นต้น

5.3 การอธิบายตามลำดับขั้นตอน
           การอธิบายตามลำดับขั้นคือ การเขียนอธิบายที่แสดงขั้นตอนไปตามลำดับการเขียนอธิบายวิธีนี้มักใช้กับการอธิบายกระบวนการ กิจกรรม หรือการเปลี่ยนแปลงที่มีขั้นตอน เช่น วิธีทำอาหาร การทดลองทางวิทยาศาสตร์ การออกกายบริหาร และการเจริญเติบโตของพืช เป็นต้น

ตัวอย่าง
            ไข่ตุ๋นวุ้นเส้น ต้นทุนต่ำทำกินแก้จน สูตรในการทำ ไข่ตุ๋นที่เจ็กจุ่นขายในราคาโถละ 30 บาท จะใช้ไข่ไก่ 2 ฟอง หมูสับ 50 กรัม วุ้นเส้น เห็นทอดหั่น กระเทียมเจียว ผักชี้ พริกชี้ฟ้าสุก ( แดง ) เขามีเทคนิคในการทำหรือปรุง โดยเอาไข่ไก่ตีเข้ากับน้ำซุป ( น้ำต้มกระดูกหมูหรือกระดูกไก่ก็ได้ ) โดยใช้สูตรน้ำซุปครึ่งแก้วต่อไข่ไก่ 2 ฟอง ( มากไปไข่ตุ๋นเหลว น้อยไปไข่ตุ๋นแข็งกระด้างไม่ดี ) ตีจนเข้ากัน จากนั้นก็ใส่ซอส ซีอิ๊วขาว พริกไทย ( ไม่ใส่น้ำปลาจะทำให้เกิดกลิ่นคาว ) เมื่อเครื่องปรุงไข่ตุ๋นเสร็จแล้วเอาวุ้นเส้นใส่เข้าไปคนให้เข้ากัน แล้วเอาเห็ดหอม พริกชี้ฟ้า ใส่เข้าไปคล้ายๆ กับโรยหน้าแล้วนำไปนึ่งในซึ้งนานประมาณ 20 นาที ไข่ตุ๋นก็จะสุกพอดีรับประทานพอยกออกมาจากซึ้งแล้วโรยด้วยผักชี ตักกินร้อนๆ อร่อยเป็นอาหารเสริมสุขภาพ ตามคำขวัญที่ว่า บริโภคไข่ไก่ พลานามัยสมบูรณ์ ( ข้อสำคัญอย่าใส่ผงชูรส )

ที่มา : ปัญญา เจริญวงศ์. ทำได้ไม่จน.ไทยรัฐ, 21 กุมภาพันธ์ 2546 , หน้า 7


5.4 การอธิบายด้วยการเปรียบเทียบ  
         การอธิบายด้วยการเปรียบเทียบ คือ การเขียนอธิบายที่ชี้ให้เห็นถึงความเหมือนและความแตกต่างของสิ่งที่ผู้เขียนนำมาเปรียบเทียบกัน เช่น

ตัวอย่าง     
...การจะดูแลต้นส้มที่รักสักต้นให้ผลิดอกออกผลได้ดั่งใจไม่ต่างอะไรกับการอุ้มชูดูแลเด็กอ่อน ใช่เพียงเพราะต้นส้มใช้เวลาตั้งท้อง นับแต่วันที่ผลิดอกจนถึงวันที่เก็บผลได้กินเวลาราวเก้าเดือนเหมือนกับคน แต่ส้มยังมีความละเอียดอ่อนกับน้ำ  ดิน  อากาศ  รวมไปถึงแมลง จึงต้องทะนุถนอมดุจเดียวกับทารก... (ที่มา :ธีรภาพ   โลหิตกุล)

 5.5 การอธิบายด้วยการแสดงเหตุและผล  
          การอธิบายด้วยการแสดงเหตุและผลคือ การเขียนอธิบายที่ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ว่า สาเหตุนั้น ๆ จะก่อให้เกิดผลอะไรตามมา หรือผลลัพธ์นั้น ๆ เกิดจากสาเหตุอะไร เช่น

 ตัวอย่าง
              ความเครียดในชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็นเครียดเรื่องงาน เรื่องเงิน หรือเรื่องส่วนตัวและการรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา อีกทั้งยังรับประทานอาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด และเผ็ดจัด ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารได้ อาการเบื้องต้น คือ ปวดท้องทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร บางรายก็คลื่นไส้และอาเจียน หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาจทำให้ปวดท้องขั้นรุนแรงจนถึงกระเพาะอาหารทะลุได้
 
6. การเขียนอธิบายโดยการขยายความ   
         การเขียนอธิบายโดยการขยายความ  เป็นการเขียนอธิบายความหมายของคำโดยขยายความ และเสนอรายละเอียดจากการศึกษาค้นคว้าส่วนที่เกี่ยวข้องกับคำ แล้วนำมาเรียบเรียงเป็นเรื่องราวอันเป็นองค์ความรู้ที่กว้างขวางและครบสมบูรณ์ จนสามารถนำไปใช้อ้างอิงได้ ดังจะเห็นได้จากการเขียนอธิบายในสารานุกรมต่างๆ เช่น สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ สารานุกรมสำหรับเยาวชน และสารานุกรมแนะนำหนังสือดี ๑๐๐ เล่ม  เป็นต้น

7. การเขียนอธิบายเปรียบเทียบ  
          การเขียนอธิบายเปรียบเทียบเป็นการเขียนเพื่ออธิบายเรื่องราวต่างๆ  ให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายขึ้นโดยการเปรียบเทียบสิ่งของสองสิ่ง  เหตุการณ์หรือความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ต่างยุคสมัยกันเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจถึงความเหมือนความแตกต่างและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น 


ขอขอบคุณแหล่งที่มา 

1. http://119.46.166.126/self_all/selfaccess12/m6/552/lesson1/more/p3.php
2. https://sites.google.com/site/krubasika/kar-kheiyn-suxsar-ni-rup-baeb-kar-xthibay
3. http://neramit01.blogspot.com/p/blog-page.html
4. http://schoolweb.eduzones.com/nisarat/content.php?view=201303272131301tgarkk