การเขียนข้อความตามสถานการณ์และโอกาส

การเขียนข้อความตามสถานการณ์และโอกาส
   ๑. การเขียนคำอวยพรในโอกาสต่าง ๆ
   คำอวยพร คือ คำกล่าวแสดงความปรารถนาดีต่อผู้อื่น กรณีที่ไม่อาจกล่าวด้วยวาจาจะอาศัยการเขียนเป็นบัตรอวยพรหรือจดหมายแทน ซึ่งการเขียนคำอวยพรมีหลักการดังนี้
       ๑. เขียนเป็นบัตรอวยพร จดหมาย หรือเขียนลงสมุดลงนามอวยพรในบริเวณงานก็ได้
       ๒. ใช้ถ้อยคำให้เหมาะสมกับวัย เพศ และยศตำแหน่งของผู้รับเพื่อเป็นการให้เกียรติ
       ๓. ใช้หมึกสีสุภาพ เช่น สีน้ำเงิน ไม่ควรใช้สีดำ เขียว แดง หรือหลายสี
       ๔. รักษาความสะอาดของบัตรอวยพรหรือจดหมาย

ตัวอย่าง

   อวยพรปีใหม่
       เนื่องในศุภวารดิถีขึ้นปีใหม่ ขอน้อมอำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย ได้โปรดดลบันดาลให้ท่านและครอบครัวประสบแต่ความสุขความเจริญ ปรารถนาสิ่งใดขอให้สัมฤทธิ์ผลทุกประการ

   อวยพรวันเกิด
       วันนี้เป็นวันเกิด พี่ขออวยพรให้น้องเล็กมีความสุขมาก ๆ คิดสิ่งใดขอให้สมปรารถนา สุขภาพแข็งแรง เรียนหนังสือเก่ง ๆ


   ๒. การเขียนคำขวัญ
   คำขวัญ คือ ข้อความที่ให้กำลังใจหรือให้ข้อคิดแก่ผู้อ่าน มีหลักการเขียนดังนี้
       ๑. ใช้คำกะทัดรัด สละสลวย และมีสัมผัสคล้องจองกัน
       ๒. ใช้คำที่มีความหมายลึกซึ้งกินใจและเป็นไปในด้านดี
       ๓. ใช้คำที่ให้ข้อคิดเหมาะสมกับโอกาส
       ๔. ใช้ระดับภาษาให้เหมาะสมกับระดับของผู้ให้และผู้รับ

   แนวความคิดในการเขียนคำขวัญ มีดังนี้
       ๑. การอนุรักษ์ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม เช่น ป่าไม้มีคุณค่า โปรดรักษาอย่าทำลาย
       ๒. การป้องกันและปราบปรามสิ่งเสพติด เช่น บุหรี่มีควันพิษ คร่าชีวิตคนใกล้ตัว
       ๓. ส่งเสริมการศึกษา เช่น ตั้งใจเรียนในวันนี้ จะได้ดีในวันหน้า
       ๔. ส่งเสริมศีลธรรม เช่น ร่วมกันประพฤติดี มีคุณธรรม จะนำชีวิตรุ่งเรือง
       ๕. อนุรักษ์วัฒนธรรมไทย ส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ เช่น ร่วมสืบสานความเป็นไทย คงความงดงามไว้ให้ยาวนาน
       ๖. แนวคิดอื่น ๆ
          ๖.๑ แนะนำวิธีปฏิบัติ เช่น จดหมายจะถึงไว ถ้าใส่รหัสไปรษณีย์
          ๖.๒ เกี่ยวกับหน้าที่ เช่น ประเทศชาติจะก้าวหน้า ถ้าชาวประชาเสียภาษี
          ๖.๓ มุ่งให้เกิดความรักชาติ เช่น ยามศึกเราต้องรบ ยามสงบเราเตรียมพร้อม
          ๖.๔ มุ่งให้ผู้คนช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เช่น บริจาคโลหิต ชุบชีวิตเพื่อนมนุษย์
          ๖.๕ มุ่งให้ปฏิบัติตามกฎจราจร เช่น ขับรถตามกฎ ช่วยลดอุบัติเหตุ
          ๖.๖ มุ่งส่งเสริมการประหยัด เช่น เก็บออมวันละบาท ช่วยเหลือชาติยามขาดแคลน
   สิ่งสำคัญของการเขียนคำขวัญคือ มุ่งให้เกิดผลด้านดี ไม่เอื้อให้เกิดความเสื่อมเสียและความแตกแยกในสังคม


   ๓. การเขียนคำคม
   คำคม คือ ถ้อยคำที่แสดงความคิดหรือทำให้เกิดความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่ง มีหลักการเขียนดังนี้
       ๑. ใช้ถ้อยคำสัมผัสคล้องจอง สละสลวย
       ๒. ใช้คำที่มีความหมายคมคาย
       ๓. มุ่งให้เกิดความคิดที่ดีและอยากปฏิบัติตาม
       ๔. มีความหมายลึกซึ้งกินใจ

ตัวอย่าง

                                เป็นเด็กดีควรดีที่ประหยัด                    มัธยัสถ์อดออมถนอมใช้
                             สิ่งฟุ่มเฟือยอย่าหลงเพลินจนเกินไป          ยับยั้งใจไว้ใช้สอยยามจำเป็น


   ๔. การเขียนคติพจน์
   คติพจน์ คือ ถ้อยคำที่มีคติชวนคิด มุ่งให้เกิดผลดีต่อตนเองและสังคม มีหลักการเขียนดังนี้
       ๑. ใช้ถ้อยคำน้อย แต่มีความหมายลึกซึ้ง
       ๒. ใช้คำคล้องจอง สละสลวย
       ๓. มุ่งให้เกิดผลในด้านดี

ตัวอย่าง

       ถึงบรรลัยไว้ชื่อให้ลือชา หมายความว่า จงเป็นคนกล้าหาญ ยอมสละชีพเพื่อให้ชื่อเสียงยังคงปรากฏอยู่ในแผ่นดิน


   ๕. การเขียนโฆษณา
   การเขียนโฆษณา คือ การนำเสนอสินค้าหรือบริการเพื่อโน้มน้าวใจ มีหลักการเขียนดังนี้
       ๑. บอกรายละเอียดต่าง ๆ อย่างชัดเจน เช่น ลักษณะคุณภาพ สถานที่ซื้อขาย ภาพประกอบ
       ๒. จัดชุดข้อมูลต่าง ๆ ให้ผู้อ่านสนใจ จดจำได้ และมีแนวโน้มจะทดลอง
       ๓. ใช้ภาษาที่สร้างสรรค์และโน้มน้าวใจผู้อ่าน เหมาะสมกับกาลเทศะและกลุ่มเป้าหมาย โดยอาจใช้คำขวัญหรือคำคม

   เทคนิคการเขียนข้อความโฆษณา
       ๑. ใช้หลักความจริง ใช้ข้อมูลที่เป็นความจริง น่าเชื่อถือ สามารถพิสูจน์ได้ เพื่อดึงดูดผู้บริโภคที่ยึดถือเหตุผล และประโยชน์ส่วนตนในการตัดสินใจซื้อ
       ๒. ใช้หลักจินตนาการ เพื่อโน้มน้าวใจผู้อ่านไปยังโลกจินตนาการที่เกินขอบเขตความเป็นจริง
       ๓. ใช้หลักจูงใจด้านอารมณ์ เพื่อกระตุ้นอารมณ์ด้านบวกและด้านลบ เพื่อชี้นำพฤติกรรมการบริโภค

ขอบคุณแหล่งมา

http://www.trueplookpanya.com/learning/detail/31730-044307