การเขียนโต้แย้ง

๑.  ความหมายของการเขียนโต้แย้ง
                การเขียนโต้แย้ง  เป็นการเขียนแสดงความคิดเห็นลักษณะหนึ่ง โดยมุ่งที่จะโต้แย้งข้อเท็จจริงหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตลอดจนโต้แย้งความคิดเห็นของผู้อื่นด้วยความคิดเห็นในทางสร้างสรรค์ เพื่อสื่อให้ผู้อื่นได้ทราบว่าผู้เขียนมีความคิดเห็นอย่างไร
                การเขียนโต้แย้งมักปรากฏในรูปของบทความตามสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ เช่น หนังสือพิมพ์ วารสาร นิตยสาร เป็นต้น ซึ่งการเขียนโต้แย้ง หรือการเขียนแสดงความคิดเห็นเชิงโต้แย้งมีหลักการโดยทั่วไปเช่นเดียวกับการเขียนแสดงความคิดเห็น คือ จะต้องประกอบด้วยข้อมูลอันเป็นข้อเท็จจริง และการแสดงความคิดเห็น แต่เนื่องจากการเขียนโต้แย้งเป็นการแสดงความคิดเห็นที่ไม่เห็นด้วย เป็นการแสดงทัศนะที่แตกต่างกันของแต่ละฝ่าย ซึ่งเป็นสิ่งปกติธรรมดาที่จะสามารถพบเห็นได้ในทุกวงการ และเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในชีวิตประจำวัน และทุกระดับในสังคม

๒.  วิธีการเขียนโต้แย้ง
                วิธีการเขียนโต้แย้งทำได้โดยทำความเข้าใจในหลักการทั่วไปของการเขียนเชิงโต้แย้งเสียก่อนว่า การเขียนโต้แย้งประกอบด้วยข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงและการแสดงความคิดเห็นจากนั้นจึงดำเนินการตามวิธี ดังนี้
                ๑)  ตั้งประเด็นที่จะเขียนโต้แย้งว่า จะโต้แย้งในประเด็นใด เช่น ประเด็นที่เกี่ยวกับนโยบาย  วิธีการ  ข้อเท็จจริง  คุณค่า  เป็นต้น
                ๒)  ระบุหรือชี้ให้เห็นจุดด้อยและความผิดพลาดของสิ่งหรือเรื่องที่จะโต้แย้ง
                ๓)  หาเหตุผลและข้อสนับสนุนความคิดของตน
                ๔)  เรียบเรียงให้เป็นภาษาของตนเองที่เข้าใจง่าย  กระชับ  รัดกุม  และใช้คำที่มีพลังในการกระตุ้นให้เกิดความคิดเห็นคล้อยตาม

                ตัวอย่างการเขียนโต้แย้ง

ทำดีได้ดีมีที่ไหน  ทำชั่วได้ดีมีถมไป

                สุภาษิตที่ว่า  “ทำดีได้ดี  ทำชั่วได้ชั่ว”  เห็นจะใช้ไม่ได้เสียแล้วกับสังคมในยุคปัจจุบันนี้ เพราะสังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้คนในสังคมต่างก็ต้องแก่งแย่งแข่งขันและดูเหมือนว่าผลกรรมแห่งความดีก็เดินทางมาถึงช้าจนเกินรอ ดูตัวอย่างครอบครัวของมัคทายก เพื่อนบ้านของข้าพเจ้า พ่อบ้านเป็นคนธรรมะธรรมโม แม่บ้านก็เป็นแม่ศรีเรือน ส่วนลูก ๆ ก็เป็นเด็กดี ตั้งใจเรียนและช่วยพ่อแม่ทำงาน แต่สุดท้ายถึงคราวที่ทางราชการเวนคืนที่ดินเพื่อตัดถนน ครอบครัวนี้ก็ต้องไปอาศัยอยู่ที่วัด ถ้ามัคทายกรู้จักโกงกินเงินวัดบ้างแม้เล็ก ๆ น้อย ๆ หรือคราวที่ใครทำบุญก็ยักยอกไว้บ้าง มัคทายกคงจะมีเงินเก็บและหาที่ทางขยับขยายที่อยู่ใหม่ได้ไม่ยากนัก ผิดกับบ้านตรงกันข้ามอีกฝั่งถนน ครอบครัวนี้ทุจริตทุกทาง ถึงคราวเลือกตั้งก็เป็นหัวคะแนนซื้อเสียง โดยเฉพาะตอนนี้เพิ่งกลับมาจากเที่ยวต่างประเทศ เพราะมีเงินร่ำรวยจากการค้ายาเสพติด เวลาไปไหนมาไหนก็มีแต่คนนับหน้าถือตา เนื่องจากทำบุญเอาหน้า บริจาคให้วัดและหน่วยราชการครั้งละหลายแสนบาท แต่กระนั้นครอบครัวนี้ก็อยู่กันอย่างสุขสบายตลอดมา
          ถึงจะมีกรณีตัวอย่างดังกล่าวข้างต้นให้เห็นก็ตาม ข้าพเจ้าก็ยังเชื่อว่าสักวันหนึ่งผลของกรรมดีที่ครอบครัวมัคทายกได้กระทำไว้จะตอบสนองมาอย่างแน่นอน แม้ว่าจะไม่ปรากฎในรูปของทรัพย์สินเงินทอง ส่วนครอบครัวที่ทุจริตนั้นจะต้องได้รับผลของกรรมชั่วตอบสนองเช่นกัน เพราะสรรพสิ่งในโลกย่อมเป็นไปตามกรรมดังคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้กระทั่งภาพชีวิตของคนที่สะท้อนในนวนิยายก็สอดคล้องกับหลักธรรมดังกล่าวเช่นกัน คือ ไม่มีใครหนีพ้นผลกรรมที่ตนได้กระทำไว้ ตัวเอกที่เป็นคนดีแม้ต้องเผชิญอุปสรรคมากมาย แต่สุดท้ายก็สุขสมหวัง ในขณะที่ผู้ร้ายซึ่งได้เปรียบและสุขสมหวังมาโดยตลอด ก็ต้องรับกรรมชั่วของตนในท้ายที่สุด ดังนั้นทุกคนจึงพึงยึดมั่นในการทำความดี ดังโคลงบทที่ว่า
                                                “ใดใดในโลกล้วน               อนิจจัง
                                คงแต่บาปบุญยัง                                  เที่ยงแท้
                                คือเงาติดตัวตรัง                                   ตรึงแน่น
                                คงแต่บาปบุญแล้                                  ก่อเกื้อรักษา

๓.  ข้อพึงระวังในการเขียนโต้แย้ง
          ในการเขียนโต้แย้งมีข้อพึงระวัง ดังนี้
                ๑)  ควรเขียนโต้แย้งด้วยเหตุผล ไม่ใช่อารมณ์
                ๒)  การเขียนเชิงโต้แย้งควรเขียนเชิงสร้างสรรค์ ไม่ใช่ทำลาย หรือเป็นเรื่องเพ้อฝันที่เป็นไปไม่ได้
                ๓)  การเขียนไม่ควรเขียนให้เกิดความแตกแยก หรือขัดแย้งรุนแรง ลุกลามบานปลายหรือกระทบกระเทือน

๔.  มารยาทในการเขียนโต้แย้ง
                มารยาทในการเขียนโต้แย้ง  มีดังนี้
                ๑)  จะต้องมีความเที่ยงธรรม จริงใจ ไม่เสแสร้ง หรือมีเจตนาอื่นเคลือบแคลง
                ๒)  ไม่ใช้ข้อมูลที่บอดเบือน หรืออ้างอิงข้อมูลที่ปราศจากหลักฐานความเป็นจริง อันจะทำให้ผู้อื่นเสียหาย หรือทำให้เกิดการเข้าใจผิด
                ๓)  ใช้ภาษาที่สุภาพ ไม่เขียนส่อเสียด หรือดูหมิ่นผู้อื่น

โรงเรียนมัธยมวัดสิงห์.  ใบความรู้เรื่อง การกรอกแบบสมัครงาน วิชา ท ๒๓๑๐๑  ภาษาไทย  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่  ๓. สืบค้นเมื่อวันที่ 21
           พฤศจิกายน 2561 จาก http://schoolweb.eduzones.com/nisarat/content.php?view=20130327214600MQvJLFY