หลักสูตรภาษาไทย


กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย

ทำไมต้องเรียนภาษาไทย
ภาษาไทยเป็นเอกลักษณ์ของชาติเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมอันก่อให้เกิดความเป็นเอกภาพและเสริมสร้างบุคลิกภาพของคนในชาติให้มีความเป็นไทยเป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทำให้สามารถประกอบกิจธุระ การงาน และดำรงชีวิตร่วมกัน  ในสังคมประชาธิปไตยได้อย่างสันติสุขและเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ ประสบการณ์จากแหล่งข้อมูลสารสนเทศต่างๆ  เพื่อพัฒนาความรู้ พัฒนากระบวนการคิดวิเคราะห์ วิจารณ์ และสร้างสรรค์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ตลอดจนนำไปใช้ในการพัฒนาอาชีพให้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังเป็นสื่อแสดงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ด้านวัฒนธรรมประเพณี และสุนทรียภาพ เป็นสมบัติล้ำค่าควรแก่การเรียนรู้  อนุรักษ์ และสืบสานให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป

เรียนรู้อะไรในภาษาไทย
 ภาษาไทยเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนจนเกิดความชำนาญในการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร การเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ  และเพื่อนำไปใช้ในชีวิตจริง
·       การอ่าน  การอ่านออกเสียงคำ  ประโยค   การอ่านบทร้อยแก้ว   คำประพันธ์ชนิดต่างๆ  การอ่านในใจเพื่อสร้างความเข้าใจ  และการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ความรู้จากสิ่งที่อ่าน   เพื่อนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน
·       การเขียน  การเขียนสะกดตามอักขรวิธี   การเขียนสื่อสาร  โดยใช้ถ้อยคำและรูปแบบต่างๆ   ของการเขียน  ซึ่งรวมถึงการเขียนเรียงความ  ย่อความ  รายงานชนิดต่างๆ การเขียนตามจินตนาการ วิเคราะห์วิจารณ์  และเขียนเชิงสร้างสรรค์
·       การฟัง การดู และการพูด  การฟังและดูอย่างมีวิจารณญาณ  การพูดแสดงความคิดเห็น ความรู้สึก   พูดลำดับเรื่องราวต่างๆ   อย่างเป็นเหตุเป็นผล   การพูดในโอกาสต่างๆ  ทั้งเป็นทางการและ ไม่เป็นทางการ  และการพูดเพื่อโน้มน้าวใจ
·       หลักการใช้ภาษาไทย  ธรรมชาติและกฎเกณฑ์ของภาษาไทย  การใช้ภาษาให้ถูกต้องเหมาะสมกับโอกาสและบุคคล  การแต่งบทประพันธ์ประเภทต่างๆ และอิทธิพลของภาษาต่างประเทศในภาษาไทย
·       วรรณคดีและวรรณกรรม      วิเคราะห์วรรณคดีและวรรณกรรมเพื่อศึกษาข้อมูล แนวความคิด คุณค่าของงานประพันธ์  และความเพลิดเพลิน  การเรียนรู้และทำความเข้าใจบทเห่  บทร้องเล่นของเด็ก เพลงพื้นบ้านที่เป็นภูมิปัญญาที่มีคุณค่าของไทย   ซึ่งได้ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด  ค่านิยม  ขนบธรรมเนียมประเพณี   เรื่องราวของสังคมในอดีต   และความงดงามของภาษาเพื่อให้เกิดความซาบซึ้งและภูมิใจในบรรพบุรุษที่ได้สั่งสมสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

คุณภาพผู้เรียน
จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
·       อ่านออกเสียงบทร้อยแก้วและบทร้อยกรองเป็นทำนองเสนาะได้ถูกต้อง  เข้าใจความหมายโดยตรงและความหมายโดยนัย  จับใจความสำคัญและรายละเอียดของสิ่งที่อ่าน  แสดงความคิดเห็นและข้อโต้แย้งเกี่ยวกับเรื่องที่อ่าน และเขียนกรอบแนวคิด  ผังความคิด  ย่อความ เขียนรายงานจากสิ่งที่อ่านได้  วิเคราะห์  วิจารณ์  อย่างมีเหตุผล  ลำดับความอย่างมีขั้นตอนและความเป็นไปได้ของเรื่องที่อ่าน  รวมทั้งประเมินความถูกต้องของข้อมูลที่ใช้สนับสนุนจากเรื่องที่อ่าน
·       เขียนสื่อสารด้วยลายมือที่อ่านง่ายชัดเจน ใช้ถ้อยคำได้ถูกต้องเหมาะสมตามระดับภาษาเขียนคำขวัญ คำคม คำอวยพรในโอกาสต่างๆ โฆษณา คติพจน์ สุนทรพจน์ ชีวประวัติ อัตชีวประวัติและประสบการณ์ต่างๆ เขียนย่อความ  จดหมายกิจธุระ แบบกรอกสมัครงาน  เขียนวิเคราะห์ วิจารณ์ และแสดงความรู้ความคิดหรือโต้แย้งอย่างมีเหตุผล   ตลอดจนเขียนรายงานการศึกษาค้นคว้าและเขียนโครงงาน
·       พูดแสดงความคิดเห็น วิเคราะห์ วิจารณ์  ประเมินสิ่งที่ได้จากการฟังและดู  นำข้อคิดไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน พูดรายงานเรื่องหรือประเด็นที่ได้จากการศึกษาค้นคว้าอย่างเป็นระบบ        
มีศิลปะในการพูด พูดในโอกาสต่างๆ ได้ตรงตามวัตถุประสงค์  และพูดโน้มน้าวอย่างมีเหตุผลน่าเชื่อถือ รวมทั้งมีมารยาทในการฟัง  ดู  และพูด
·       เข้าใจและใช้คำราชาศัพท์  คำบาลีสันสกฤต  คำภาษาต่างประเทศอื่นๆ  คำทับศัพท์ และศัพท์บัญญัติในภาษาไทย วิเคราะห์ความแตกต่างในภาษาพูด ภาษาเขียน โครงสร้างของประโยครวม ประโยคซ้อน ลักษณะภาษาที่เป็นทางการ กึ่งทางการและไม่เป็นทางการ และแต่งบทร้อยกรองประเภทกลอนสุภาพ  กาพย์  และโคลงสี่สุภาพ
·       สรุปเนื้อหาวรรณคดีและวรรณกรรมที่อ่าน วิเคราะห์ตัวละครสำคัญ วิถีชีวิตไทย และคุณค่าที่ได้รับจากวรรณคดีวรรณกรรมและบทอาขยาน  พร้อมทั้งสรุปความรู้ข้อคิดเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง
จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
·       อ่านออกเสียงบทร้อยแก้วและบทร้อยกรองเป็นทำนองเสนาะได้ถูกต้องและเข้าใจ   ตีความ  แปลความ  และขยายความเรื่องที่อ่านได้ วิเคราะห์วิจารณ์เรื่องที่อ่าน แสดงความคิดเห็นโต้แย้งและเสนอความคิดใหม่จากการอ่านอย่างมีเหตุผล  คาดคะเนเหตุการณ์จากเรื่องที่อ่าน เขียนกรอบแนวคิด  ผังความคิด  บันทึก  ย่อความ และเขียนรายงานจากสิ่งที่อ่าน สังเคราะห์  ประเมินค่า  และนำความรู้ความคิดจากการอ่านมาพัฒนาตน  พัฒนาการเรียน  และพัฒนาความรู้ทางอาชีพ และนำความรู้ความคิดไปประยุกต์ใช้แก้ปัญหาในการดำเนินชีวิต  มีมารยาทและมีนิสัยรักการอ่าน
·       เขียนสื่อสารในรูปแบบต่างๆ  โดยใช้ภาษาได้ถูกต้องตรงตามวัตถุประสงค์   ย่อความจากสื่อที่มีรูปแบบและเนื้อหาที่หลากหลาย   เรียงความแสดงแนวคิดเชิงสร้างสรรค์โดยใช้โวหารต่างๆ  เขียนบันทึก  รายงานการศึกษาค้นคว้าตามหลักการเขียนทางวิชาการ ใช้ข้อมูลสารสนเทศในการอ้างอิง   ผลิตผลงานของตนเองในรูปแบบต่างๆ   ทั้งสารคดีและบันเทิงคดี   รวมทั้งประเมินงานเขียนของผู้อื่นและนำมาพัฒนางานเขียนของตนเอง
·       ตั้งคำถามและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่ฟังและดู   มีวิจารณญาณในการเลือกเรื่อง  ที่ฟังและดู  วิเคราะห์วัตถุประสงค์  แนวคิด  การใช้ภาษา  ความน่าเชื่อถือของเรื่องที่ฟังและดู  ประเมินสิ่งที่ฟังและดูแล้วนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต  มีทักษะการพูดในโอกาสต่างๆ ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการโดยใช้ภาษาที่ถูกต้อง   พูดแสดงทรรศนะ  โต้แย้ง  โน้มน้าว  และเสนอแนวคิดใหม่อย่างมีเหตุผล  รวมทั้งมีมารยาทในการฟัง  ดู  และพูด
·       เข้าใจธรรมชาติของภาษา  อิทธิพลของภาษา  และลักษณะของภาษาไทย ใช้คำและกลุ่มคำสร้างประโยคได้ตรงตามวัตถุประสงค์   แต่งคำประพันธ์ประเภท กาพย์ โคลง ร่ายและฉันท์   ใช้ภาษาได้เหมาะสมกับกาลเทศะและใช้คำราชาศัพท์และคำสุภาพได้อย่างถูกต้อง  วิเคราะห์หลักการ  สร้างคำในภาษาไทย  อิทธิพลของภาษาต่างประเทศในภาษาไทยและภาษาถิ่น  วิเคราะห์และประเมินการใช้ภาษาจากสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์
·       วิเคราะห์วิจารณ์วรรณคดีและวรรณกรรมตามหลักการวิจารณ์วรรณคดีเบื้องต้น รู้และเข้าใจลักษณะเด่นของวรรณคดี ภูมิปัญญาทางภาษาและวรรณกรรมพื้นบ้าน  เชื่อมโยงกับการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และวิถีไทย   ประเมินคุณค่าด้านวรรณศิลป์  และนำข้อคิดจากวรรณคดีและวรรณกรรมไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง

ความสัมพันธ์ของสาระและมาตรฐานการเรียนรู้
สาระที่ 1  การอ่าน
มาตรฐาน ท 1.1   ใช้กระบวนการอ่านสร้างความรู้และความคิดเพื่อนำไปใช้ตัดสินใจ แก้ปัญหา
                           ในการดำเนินชีวิตและมีนิสัยรักการอ่าน 
สาระที่ 2  การเขียน
มาตรฐาน ท 2.1 ใช้กระบวนการเขียนเขียนสื่อสาร เขียนเรียงความ ย่อความ และเขียนเรื่องราวใน
                            รูปแบบต่างๆ  เขียนรายงานข้อมูลสารสนเทศและรายงานการศึกษาค้นคว้าอย่าง
                         มีประสิทธิภาพ
สาระที่ 3  การฟัง การดู และการพูด
มาตรฐาน ท 3.1   สามารถเลือกฟังและดูอย่างมีวิจารณญาณ และพูดแสดงความรู้ ความคิด และ
                          ความรู้สึกในโอกาสต่างๆ อย่างมีวิจารณญาณและสร้างสรรค์
สาระที่ 4  หลักการใช้ภาษาไทย
มาตรฐาน  ท 4.1  เข้าใจธรรมชาติของภาษาและหลักภาษาไทย  การเปลี่ยนแปลงของภาษาและพลัง
                             ภาษา ภูมิปัญญาทางภาษา  และรักษาภาษาไทยไว้เป็นสมบัติของชาติ   
                          
สาระที่ 5    วรรณคดีและวรรณกรรม
มาตรฐาน  ท 5.1  เข้าใจและแสดงความคิดเห็น วิจารณ์วรรณคดีและวรรณกรรมไทยอย่างเห็นคุณค่า
                          และนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง